วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

คนสาบสูญ

คนสาบสูญ
สาบสูญ คือการสิ้นสภาพของบุคคลโดยผลกฎหมาย บุคคลใดที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ กฎหมายถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายตามกฎหมาย เหตุที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลกลายเป็นคนสาบสูญ เพราะเขาจากถิ่นที่อยู่ไปนานโดยไม่ส่งข่าวคราว หรือไม่มีผู้ใดพบเห็นจนน่าจะถึงแก่ความตาย หรือมีเหตุอันสันนิษฐานได้ว่าน่าจะตายแล้ว
เนื่องจากการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้ ต้องเข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดก่อน ซึ่งสาระสำคัญหนึ่งได้แก่ระยะเวลาที่ศาลสามารถมีคำสั่งได้ ดังนี้

ผู้ไม่อยู่
ช่วงที่บุคคลหายไปจากภูมิลำเนา ไม่ส่งข่าวคราว ไม่มีผู้ใดพบเห็นในช่วงต้นนี้ ยังไม่สันนิษฐานว่าตาย กฎหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเป็นเพียง “ผู้ไม่อยู่”
กรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้
อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ของตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป
ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปย่อมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้ทุกอย่างยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 801 ได้แก่
1)       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
2)       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
3)       ให้
4)       ประนีประนอมยอมความ
5)       ยื่นฟ้องต่อศาล
6)       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
และในมาตรา 802  ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหายท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทำการ ใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำก็ย่อมมีอำนาจจะทำได้ทั้งสิ้น
                กล่าวคือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปย่อมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้ทุกอย่างยกเว้น 6 อย่างที่กำหนดไว้ในมาตรา 801 แต่มาตรา 802 หากมีเหตุฉุกเฉิน ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปสามารถจะกระทำได้ เพียงเพื่อ
1.     ป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย และ
2.     กระทำการ ใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ
หากตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปมีความจำเป็นต้องกระทำเกินขอบอำนาจที่ระบุห้ามไว้ในมาตรา 801 ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้ (มาตรา 51)
ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปนั้น จัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้ (มาตรา 50)

การสิ้นสุดความเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป
          มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ซึ่งสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
1.       หากผู้ไม่อยู่ได้มีการตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ แต่
-          สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป เมื่อตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป
1)       ตาย
2)       ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ (คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ คนไร้ความสามารถ)
3)       ล้มละลาย
-          ถูกถอนตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป หาก ปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่
เมื่อความเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปสิ้นสุดลง การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับ เสมือนว่าไม่มีการตั้งตัวแทน

กรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนเฉพาะการไว้
การตั้งตัวแทนเฉพาะการนั้น หมายถึง เพื่อมอบหมายให้ตัวแทนกระทำการแทนกิจการเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง กิจการที่ตัวการมอบหมายให้ตัวแทนเฉพาะการจัดการแทน เขาก็สามารถจัดการได้ทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมายแม้แต่กิจการอันห้ามไว้ในมาตรา 801 เพียงแต่ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการอื่นที่ตัวการไม่ได้มอบหมายให้ได้ ดังนั้นหากกิจการใดที่ผู้ไม่อยู่มอบหมายให้ตัวแทนเฉพาะการกระทำการแทน ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง

กรณีที่ผู้ไม่อยู่ไม่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้
มาตรา 48 ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดีเมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้
โดยสามารถสรุปแบ่งรายละเอียดออกเป็น 2 ช่วงเวลาได้ดังนี้
ระยะแรก
1.       บุคคลใดไปจากภูมิลำเนา
2.       ไม่มีผู้ใดทราบแน่ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
3.       บุคคลดังกล่าวไม่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจัดการทั่วไป
4.       มีความจำเป็นต้องจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้น
5.       เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ
ศาลจะมีคำสั่งให้คำการอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
                การร้องขอเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จำเป็นไปพลางก่อน หมายความว่า การร้องขอต้องระบุว่าขอจัดการทรัพย์สินใด เนื่องจากอะไร เป็นเรื่องๆ ไป เท่าที่จำเป็น เช่น การถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน เมื่อจัดการเสร็จแล้วอำนาจก็สิ้นสุดลง หากมีความจำเป็นอื่นใดอีก ต้องร้องขอใหม่ในระยะแรกนี้ จนกว่าศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
                การร้องขอที่ไม่รุบุชัดเจน เช่น  “ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องทำการไปพลางเท่าที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่” ศาลย่อมยกคำร้อง

ระยะที่สอง : เมื่อครบกำหนด 1 ปี
1.       เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับจาก
-          วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนา
-          วันที่มีผู้ได้พบเห็นหรือทราบข่าวครั้งหลังสุด
2.       ไม่มีผู้ใดทราบข่าวเกี่ยวกับบุคคลผู้ไม่อยู่นั้น ตลอดระยะ 1 ปี
3.       เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ก็ได้
เมื่อครบระยะเวลา 1 ปี จากการที่ไม่อยู่หายไปนั้น หากปล่อยให้เนิ่นนานไปการร้องขอต่อศาล เพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จำเป็นไปพลางก่อน ย่อมไม่สะดวกและไม่สามารถจัดการกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้ในทันที ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ดังนั้นเมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ก็ได้

ผู้จัดการทรัพย์สิน
หน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน
1.       ต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล แต่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้ขยายเวลาก็ได้ (มาตรา 52)
2.       ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป ตามมาตรา 801 และมาตรา 802 ตามที่อธิบายไว้ในส่วนของตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป
หากกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ผู้จัดการทรัพย์สินสามารถจะทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากกระทำเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ
*เช่น เมื่อได้รับคำสั่งแต่ตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ พบว่ามีลูกหนี้ซึ่งถ้าไม่ฟ้องศาลทันทีคดีจะขาดอายุความจำเป็นต้องฟ้องศาลเสียก่อนไม่สามารถรอขออนุญาตฟ้องศาล ก็สามารถฟ้องไปก่อนแล้วจึงไปร้องขออนุญาตโดยอ้างเหตุจำเป็นในภายหลัง ซึ่งศาลอาจให้ดำเนินการต่อหรือถอนฟ้องเสียก็ได้ (ตัวอย่างในหนังสือ LA 104 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
ถ้าเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้ (มาตรา 54)
การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 60)
3.       ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่หากปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นก็ได้ (มาตรา 55)
คำว่า “หากปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหาย” หมายถึง แม้ยังไม่เกิดความเสียหายแต่หากปล่อยให้จัดการต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นที่น่าจะเสียหายก็ได้
4.       เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1)       ให้ผู้จัดการทรัพย์สินหาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
(2)       ให้ผู้จัดการทรัพย์สินแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
(3)       ถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน และตั้งผู้อื่นให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนต่อไป
(มาตรา 56)

บำเหน็จ (มาตรา 57)
ในคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินโดยจ่ายจากทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ ถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้
หากพฤติการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงไป ถ้าผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอหรือเมื่อมีกรณีปรากฏแก่ศาล ศาลจะสั่งกำหนดบำเหน็จ งด ลด เพิ่ม หรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการทรัพย์สินอีกก็ได้

บัญชีทรัพย์สิน (มาตรา 53)
ในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้น ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป หรือผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่แล้วแต่กรณี ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนั้นต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติของผู้ไม่อยู่ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ถ้าไม่มีคู่สมรสหรือหาญาติไม่ได้ หรือคู่สมรสและญาติไม่ยอมเป็นพยาน  จะให้ผู้อื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นพยานก็ได้

การสิ้นสุดความเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน (มาตรา 58)
ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1)     ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
(2)     ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
(3)     ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
(4)     ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
(5)     ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6)     ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
(7)     ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน

มาตรา 59 กำหนดว่า ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 58 (4)(5) หรือ (6)
ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน
1.       ต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร
2.       ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง

ระยะที่สาม : ถึงกำหนดกาลเป็นคนสาบสูญ
เป็นช่วงระยะที่บุคคลหายไปจากภูมิลำเนานานถึง 5 ปี ในกรณีธรรมดา หรือ 2 ปี ในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ น่าจะถึงแก่ความตายแล้ว กฎหมายจึงให้อำนาจศาลสั่งให้เป็น “คนสาบสูญ” ได้
คนสาบสูญ (มาตรา 61)
ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
          ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
          (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
          (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
          (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
บุคคลที่สามารถร้องขอให้ผู้ไม่อยู่เป็นคนสาบสูญ
                บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามที่ระบุในมาตรา 61 หมายถึงบุคคลที่จะเกิดสิทธิต่างๆ ขึ้นเนื่องจากการที่ศาลสั่งให้ผู้ไม่อยู่นั้นเป็นคนสาบสูญ หากสิทธิเช่นว่ามีอยู่แล้วเช่น เจ้าหนี้ทางการค้า ย่อมไม่สามารถเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรานี้ เนื่องจากเจ้าหนี้ย่อมขอรับชำระหนี้ได้จากกองมรดก หรือทายาทผู้รับมรดก นอกจากผู้มีส่วนได้เสียแล้ว
อัยการก็มีสิทธิร้องขอได้ตามมาตรานี้

ระยะเวลาที่ถือว่าผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายตามกฎหมาย (มาตรา 62) 
           บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61

การถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ (มาตรา 63)
คำสั่งให้คนสาบสูญนั้นอาศัยความไม่รู้ว่าผู้ที่หายไปนั้นเป็นหรือตาย หากปรากฏชัดแจ้งว่า
1.       บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิต
2.       ตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62
บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ ย่อมสามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้
ผลของคำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
คำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ย่อมลบล้างคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทรัพย์มรดกที่ตกแก่ทายาทย่อมกลับคืนแก่เจ้าทรัพย์ ถ้าบุคคลนั้นตายในเวลาอื่นจะต้องนำทรัพย์สินที่เป็นมรดกมาแบ่งให้ทายาทที่มีสิทธิได้รับตามวันเวลาที่แท้จริง แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองทายาทที่ได้รับมรดกตามคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญที่ได้จัดการทรัพย์สินที่ตนได้รับตามฐานะเจ้าของทรัพย์ แต่ต้องกระทำโดยสุจริต  และภายในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่ง
สุจริตในที่นี้หมายถึง กรณีที่กระทำการใดๆ ลงไปโดยไม่ทราบว่าผู้สาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายผิดไปจากเวลาที่เป็นคนสาบสูญ

การคืนทรัพย์
บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 406 ถึงมาตรา 419

1 ความคิดเห็น: