วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถ (A Quasi-Incompetent Person)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้
คนเสมือนไร้ความสามารถ (A Quasi-Incompetent Person) นั้นจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้เพราะเหตุหนึ่งเหตุ 3 ประการดังต่อไปนี้
1.    มีเหตุบกพร่องบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้
2.    ไม่สามารถจัดการงานของตนได้เพราะเหตุบกพร่อง
3.    ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
เหตุบกพร่องที่กฎหมายกำหนดไว้ได้แก่
1. กายพิการ หมายถึงร่างการไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด เป็นใบ้ หูหนวก หรือเป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นแต่กำเนิดหรือเป็นในภายหลังด้วยเหตุต่างๆ
2. จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เช่น มีจิตใจบกพร่อง หรือสมองพิการ แต่ยังไม่เข้าขั้นคนวิกลจริต คนที่มีสติฟั่นเฟือนนี้ มีสติรู้ผิดชอบอยู่ในเรื่องทั่วไป แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ เช่นบ้าแต่งตัว บ้าแฟชั่น หรือเลอะเลือนเป็นบางครั้ง
3. ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ หมายถึงคนที่จ่ายทรัพย์สินให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์เกินกว่ารายได้ที่ได้รับ เที่ยวเตร่ หรือชอบเล่นการพนันล้างผลาญทรัพย์สมบัติโดยไร้ประโยชน์ และกระทำเป็นอาจิณ (คำว่า อาจิณ หมายถึง เป็นปรกติ, ติดเป็นนิสัย, เสมอ ๆ, เนือง ๆ)
4. ติดสุรายาเมา หมายถึงคนที่เสพสุรา หรือพวกของมึนเมาต่างๆ และกระทำเป็นอาจิณ จะเว้นไม่เสพเสียไม่ได้
5. เหตุบกพร่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกันกับข้อ 1 ถึง ข้อ 4 เช่นบุคคลที่มีอายุมากหลงๆ ลืมๆ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เป็นต้น
ไม่สามารถจัดการงานของตนได้เพราะเหตุบกพร่อง
หมายความว่า เมื่อบุคลใดมีเหตุบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถจัดทำการงานของตนได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นแม้มีเหตุบกพร่องแต่ยังสามารถทำงานได้อย่างเป็นปรกติ ก็ไม่เข้าเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
คำพิพากษาฎีกาที่ 95/2483
ภรรยาผู้ร้องป่วยเป็นโรคอัมพาตมือเท้าตาย ไม่สามารถลุกนั่งด้วยตนเองได้เท่านั้น แต่ผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบว่าภรรยาผู้ร้องมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่สามารถทำงานได้ จึงยังไม่เข้าหลักเกณฑ์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อมีบุคคลร้องขอ  บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลเป็นคนไร้ความสามารถ มาตรา 28 ได้แก่
1.    คู่สมรส
2.    ผู้บุพการี กล่าวคือบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด
3.    ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
4.    ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์
5.    ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น
6.    พนักงานอัยการ
คำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนี้ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
1. คนเสมือนไร้ความสามารถต้องตกอยู่ในความพิทักษ์ หรือความดูแลของผู้พิทักษ์ โดยผู้พิทักษ์ของคนเสมือนไร้ความสามารถ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม เช่นเดียวกับผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถ คือ
·      ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่มีคู่สมรส ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ ให้บิดามารดาเป็นผู้อนุบาล เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 1569 และมาตรา 1569/1)
·      ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นมีคู่สมรส ให้ภรรยา หรือสามีเป็นผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนร่วมได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้ (มาตรา 1463)
2. ถูกจำกัดความสามารถบางชนิด เมื่อบุคคลถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ผลทางกฎหมายคือ บุคคลนั้นไม่สามารถทำนิติกรรมบางชนิดที่กฎหมายกำหนดไว้โดยลำพังต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ซึ่งได้แก่
1.    นำทรัพย์สินไปลงทุน
2.    รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
3.    กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
4.    รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
5.    เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
6.    ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศลการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
7.    รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
8.    ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
9.    ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
10.เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องของตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
11.ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
12.นิติกรรมซึ่งศาลกำหนดไว้ว่าต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้ คำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมที่กำหนดไว้ข้างต้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ
ทั้งนี้ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจเหมือนผู้ใช้อำนาจปกครอง เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยอำนาจปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์เหมือนดังเช่นผู้อนุบาล ดังนั้นผู้เสมือนไร้ความสามารถจึงประกอบกิจการต่างๆ ได้ ยกเว้นเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 666/2495
ผู้พิทักษ์จะฟ้องความแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถโดยลำพังตนเองโดยมิได้รับมอบอำนาจจากผู้เสมือนไร้ความสามารถไม่ได้

คนเสมือนไร้ความสามารถกับพินัยกรรม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น กำหนดว่า บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ (มาตรา 1670)
แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามคนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม คนเสมือนไร้ความสามารถ ที่อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป ย่อมทำพินัยกรรมได้ไม่เป็นโมฆะ เพราะความสามารถหาได้ถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528
พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

การสิ้นสุดแห่งความเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น (มาตรา 36 ประกอบมาตรา 31)

คนสาบสูญ

คนสาบสูญ
สาบสูญ คือการสิ้นสภาพของบุคคลโดยผลกฎหมาย บุคคลใดที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ กฎหมายถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายตามกฎหมาย เหตุที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลกลายเป็นคนสาบสูญ เพราะเขาจากถิ่นที่อยู่ไปนานโดยไม่ส่งข่าวคราว หรือไม่มีผู้ใดพบเห็นจนน่าจะถึงแก่ความตาย หรือมีเหตุอันสันนิษฐานได้ว่าน่าจะตายแล้ว
เนื่องจากการที่ศาลจะสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้ ต้องเข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดก่อน ซึ่งสาระสำคัญหนึ่งได้แก่ระยะเวลาที่ศาลสามารถมีคำสั่งได้ ดังนี้

ผู้ไม่อยู่
ช่วงที่บุคคลหายไปจากภูมิลำเนา ไม่ส่งข่าวคราว ไม่มีผู้ใดพบเห็นในช่วงต้นนี้ ยังไม่สันนิษฐานว่าตาย กฎหมายเรียกบุคคลดังกล่าวเป็นเพียง “ผู้ไม่อยู่”
กรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้
อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ของตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป
ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปย่อมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้ทุกอย่างยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 801 ได้แก่
1)       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
2)       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
3)       ให้
4)       ประนีประนอมยอมความ
5)       ยื่นฟ้องต่อศาล
6)       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
และในมาตรา 802  ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหายท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทำการ ใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำก็ย่อมมีอำนาจจะทำได้ทั้งสิ้น
                กล่าวคือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปย่อมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้ทุกอย่างยกเว้น 6 อย่างที่กำหนดไว้ในมาตรา 801 แต่มาตรา 802 หากมีเหตุฉุกเฉิน ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปสามารถจะกระทำได้ เพียงเพื่อ
1.     ป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย และ
2.     กระทำการ ใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ
หากตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปมีความจำเป็นต้องกระทำเกินขอบอำนาจที่ระบุห้ามไว้ในมาตรา 801 ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้ (มาตรา 51)
ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปนั้น จัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้ (มาตรา 50)

การสิ้นสุดความเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป
          มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ซึ่งสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
1.       หากผู้ไม่อยู่ได้มีการตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ แต่
-          สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป เมื่อตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป
1)       ตาย
2)       ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ (คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ คนไร้ความสามารถ)
3)       ล้มละลาย
-          ถูกถอนตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป หาก ปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่
เมื่อความเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปสิ้นสุดลง การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับ เสมือนว่าไม่มีการตั้งตัวแทน

กรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนเฉพาะการไว้
การตั้งตัวแทนเฉพาะการนั้น หมายถึง เพื่อมอบหมายให้ตัวแทนกระทำการแทนกิจการเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง กิจการที่ตัวการมอบหมายให้ตัวแทนเฉพาะการจัดการแทน เขาก็สามารถจัดการได้ทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมายแม้แต่กิจการอันห้ามไว้ในมาตรา 801 เพียงแต่ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการอื่นที่ตัวการไม่ได้มอบหมายให้ได้ ดังนั้นหากกิจการใดที่ผู้ไม่อยู่มอบหมายให้ตัวแทนเฉพาะการกระทำการแทน ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง

กรณีที่ผู้ไม่อยู่ไม่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้
มาตรา 48 ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดีเมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้
โดยสามารถสรุปแบ่งรายละเอียดออกเป็น 2 ช่วงเวลาได้ดังนี้
ระยะแรก
1.       บุคคลใดไปจากภูมิลำเนา
2.       ไม่มีผู้ใดทราบแน่ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
3.       บุคคลดังกล่าวไม่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจัดการทั่วไป
4.       มีความจำเป็นต้องจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้น
5.       เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ
ศาลจะมีคำสั่งให้คำการอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
                การร้องขอเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จำเป็นไปพลางก่อน หมายความว่า การร้องขอต้องระบุว่าขอจัดการทรัพย์สินใด เนื่องจากอะไร เป็นเรื่องๆ ไป เท่าที่จำเป็น เช่น การถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน เมื่อจัดการเสร็จแล้วอำนาจก็สิ้นสุดลง หากมีความจำเป็นอื่นใดอีก ต้องร้องขอใหม่ในระยะแรกนี้ จนกว่าศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
                การร้องขอที่ไม่รุบุชัดเจน เช่น  “ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องทำการไปพลางเท่าที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่” ศาลย่อมยกคำร้อง

ระยะที่สอง : เมื่อครบกำหนด 1 ปี
1.       เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับจาก
-          วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนา
-          วันที่มีผู้ได้พบเห็นหรือทราบข่าวครั้งหลังสุด
2.       ไม่มีผู้ใดทราบข่าวเกี่ยวกับบุคคลผู้ไม่อยู่นั้น ตลอดระยะ 1 ปี
3.       เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ก็ได้
เมื่อครบระยะเวลา 1 ปี จากการที่ไม่อยู่หายไปนั้น หากปล่อยให้เนิ่นนานไปการร้องขอต่อศาล เพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จำเป็นไปพลางก่อน ย่อมไม่สะดวกและไม่สามารถจัดการกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้ในทันที ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ดังนั้นเมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ก็ได้

ผู้จัดการทรัพย์สิน
หน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน
1.       ต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล แต่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้ขยายเวลาก็ได้ (มาตรา 52)
2.       ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป ตามมาตรา 801 และมาตรา 802 ตามที่อธิบายไว้ในส่วนของตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป
หากกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ผู้จัดการทรัพย์สินสามารถจะทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากกระทำเช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ
*เช่น เมื่อได้รับคำสั่งแต่ตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ พบว่ามีลูกหนี้ซึ่งถ้าไม่ฟ้องศาลทันทีคดีจะขาดอายุความจำเป็นต้องฟ้องศาลเสียก่อนไม่สามารถรอขออนุญาตฟ้องศาล ก็สามารถฟ้องไปก่อนแล้วจึงไปร้องขออนุญาตโดยอ้างเหตุจำเป็นในภายหลัง ซึ่งศาลอาจให้ดำเนินการต่อหรือถอนฟ้องเสียก็ได้ (ตัวอย่างในหนังสือ LA 104 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
ถ้าเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้ (มาตรา 54)
การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 60)
3.       ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่หากปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นก็ได้ (มาตรา 55)
คำว่า “หากปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหาย” หมายถึง แม้ยังไม่เกิดความเสียหายแต่หากปล่อยให้จัดการต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นที่น่าจะเสียหายก็ได้
4.       เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1)       ให้ผู้จัดการทรัพย์สินหาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
(2)       ให้ผู้จัดการทรัพย์สินแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
(3)       ถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน และตั้งผู้อื่นให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนต่อไป
(มาตรา 56)

บำเหน็จ (มาตรา 57)
ในคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินโดยจ่ายจากทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ ถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้
หากพฤติการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงไป ถ้าผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอหรือเมื่อมีกรณีปรากฏแก่ศาล ศาลจะสั่งกำหนดบำเหน็จ งด ลด เพิ่ม หรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการทรัพย์สินอีกก็ได้

บัญชีทรัพย์สิน (มาตรา 53)
ในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้น ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป หรือผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่แล้วแต่กรณี ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนั้นต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติของผู้ไม่อยู่ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ถ้าไม่มีคู่สมรสหรือหาญาติไม่ได้ หรือคู่สมรสและญาติไม่ยอมเป็นพยาน  จะให้ผู้อื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นพยานก็ได้

การสิ้นสุดความเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน (มาตรา 58)
ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1)     ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
(2)     ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
(3)     ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
(4)     ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
(5)     ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6)     ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
(7)     ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน

มาตรา 59 กำหนดว่า ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 58 (4)(5) หรือ (6)
ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน
1.       ต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร
2.       ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง

ระยะที่สาม : ถึงกำหนดกาลเป็นคนสาบสูญ
เป็นช่วงระยะที่บุคคลหายไปจากภูมิลำเนานานถึง 5 ปี ในกรณีธรรมดา หรือ 2 ปี ในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ น่าจะถึงแก่ความตายแล้ว กฎหมายจึงให้อำนาจศาลสั่งให้เป็น “คนสาบสูญ” ได้
คนสาบสูญ (มาตรา 61)
ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
          ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
          (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
          (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
          (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
บุคคลที่สามารถร้องขอให้ผู้ไม่อยู่เป็นคนสาบสูญ
                บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามที่ระบุในมาตรา 61 หมายถึงบุคคลที่จะเกิดสิทธิต่างๆ ขึ้นเนื่องจากการที่ศาลสั่งให้ผู้ไม่อยู่นั้นเป็นคนสาบสูญ หากสิทธิเช่นว่ามีอยู่แล้วเช่น เจ้าหนี้ทางการค้า ย่อมไม่สามารถเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรานี้ เนื่องจากเจ้าหนี้ย่อมขอรับชำระหนี้ได้จากกองมรดก หรือทายาทผู้รับมรดก นอกจากผู้มีส่วนได้เสียแล้ว
อัยการก็มีสิทธิร้องขอได้ตามมาตรานี้

ระยะเวลาที่ถือว่าผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายตามกฎหมาย (มาตรา 62) 
           บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61

การถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ (มาตรา 63)
คำสั่งให้คนสาบสูญนั้นอาศัยความไม่รู้ว่าผู้ที่หายไปนั้นเป็นหรือตาย หากปรากฏชัดแจ้งว่า
1.       บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิต
2.       ตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62
บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ ย่อมสามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้
ผลของคำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
คำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ย่อมลบล้างคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทรัพย์มรดกที่ตกแก่ทายาทย่อมกลับคืนแก่เจ้าทรัพย์ ถ้าบุคคลนั้นตายในเวลาอื่นจะต้องนำทรัพย์สินที่เป็นมรดกมาแบ่งให้ทายาทที่มีสิทธิได้รับตามวันเวลาที่แท้จริง แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองทายาทที่ได้รับมรดกตามคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญที่ได้จัดการทรัพย์สินที่ตนได้รับตามฐานะเจ้าของทรัพย์ แต่ต้องกระทำโดยสุจริต  และภายในเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่ง
สุจริตในที่นี้หมายถึง กรณีที่กระทำการใดๆ ลงไปโดยไม่ทราบว่าผู้สาบสูญยังมีชีวิตอยู่หรือตายผิดไปจากเวลาที่เป็นคนสาบสูญ

การคืนทรัพย์
บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 406 ถึงมาตรา 419

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

ค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541


ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั้น แบ่งค่าตอบแทนในการทำงาน ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.    ค่าจ้าง
2.    ค่าล่วงเวลา
3.    ค่าทำงานในวันหยุด
4.    ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
1. ค่าจ้าง : หมายถึง เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
ค่าจ้างในวันทำงาน : หมายถึง ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ
นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดไว้ไม่ได้
การทำงานล่วงเวลา หมายความถึง การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน ในวันทำงานหรือวันหยุด แล้วแต่กรณี
2. ค่าล่วงเวลา หมายความถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาการทำงานหรือเกินเวลาทำงาน หรือที่เรียกว่า ทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานนี้ ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3. ค่าทำงานในวันหยุด หมายความถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ หรืวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างดังนี้
1.  ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. ลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
สิทธิของลูกจ้างกับวันหยุด
ตามกฎหมาย นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดดังต่อไปนี้
1. วันหยุดประจำสัปดาห์ เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. วันหยุดตามประเพณี
3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี
สามารถอธิบายเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างในวันหยุดได้ดังนี้
วันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุด ยกเว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
แยกได้เป็น 2 กรณี
- ลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างรายเดือนซึ่งได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์แล้ว มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์เพิ่มจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
- ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยต้องได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุด โดยไม่ยกเว้น
ดังนั้นถ้ามีการทำงานในวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า1 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
4. ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ค่าครองชีพ
ค่าครองชีพ หากนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือน โดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่เช่นนี้ ย่อมถือว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของลูกจ้าง การที่นายจ้างกับสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938 - 8992/2552)
รู้หรือไม่ ?
การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดนั้น บางสถานประกอบการอาจมีระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ให้ขออนุญาตเป็นหนังสือ หรือต้องมีคำสั่งหรือการอนุมัติให้ทำเป็นหนังสือ เช่นนี้หากลูกจ้างทำงานในวันหยุดโดยไม่มีการอนุญาต อนุมัติ หรือมีคำสั่ง การทำงานดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ลูกจ้างสมัครใจไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุด (คำพิพากษาฎีกาที่ 1936/2526)
ตามตัวอย่างข้างต้น การใช้สิทธิตามกฎหมายอาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกกรณี ต้องพิจารณาดูจากสัญญาจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละสถานประกอบการ รวมถึงสภาพการจ้างรายบุคคล บางกรณีอาจมีพฤติการณ์พิเศษที่ต้องนำประกอบการพิจารณา ดังนั้นเพื่อความถูกต้องควรได้รับการปรึกษาจากทนายความที่มีความรู้ด้านกฎหมายแรงงานหรือเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองแรงงานที่รับผิดชอบ